ลักษณะทางเศรษฐกิจ

ลักษณะทางเศรษฐกิจของทวีปยุโรป

          เนื่องจากทวีปยุโรปเป็นทวีปที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีประชากรที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ทวีปยุโรปเป็นทวีปที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของโลก กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่

          1. การเพาะปลูก เขตเพาะปลูกอยู่ในยุโรปตะวันตก ภาคตะวันออกและภาคใต้ของอังกฤษ ภาคเหนือและภาคตะวันตกของฝรั่งเศส ตอนเหนือของเยอรมนี  ยูเครน  พืชที่สำคัญคือ ข้าวสาลี ปลูกได้มากที่สุดคือ  ยูเครน  รองลงไปคือ  ฝรั่งเศส  อิตาลี  สเปน  โรมาเนีย  บัลแกเรีย  เยอรมนี  ฮังการี  ข้าวโอ๊ต  ข้าวบาร์เลย์  ข้าวไรย์  ถั่ว  มันฝรั่ง  ปลูกได้โดยทั่วไป  องุ่น ส้ม มะกอก มะนาว แอปเปิลและผลไม้ชนิดต่างๆ ปลูกได้มากเขตอากาศแบบเมดิเตอร์เนียน ได้แก่ประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส สเปน กรีซ ต้นแฟล็กซ์ ใช้ใบทำป่านลินิน ปลูกมากในโปแลนด์  เบลเยียม ไอร์แลนด์

          2. การเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไปตามลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ เขตทุนดรา มีการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ / เขตทุ่งหญ้าสเตปป์ มีการเลี้ยงโคเนื้อ แพะ แกะ ม้า /  เขตเมดิเตอร์เรเนียน มีการเลี้ยงโคเนื้อ และแกะ / เขตภูเขาสูง และที่ราบสูง มีการเลี้ยงโคเนื้อ  โคนม  แกะ / เขตอบอุ่นชื้นตอนเหนือของคาบสมุทรบอลข่าน  มีการเลี้ยงสุกรด้วยข้าวโพด / เขตภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก  มีการทำฟาร์มโคนม

          3. การทำป่าไม้  พบมากในประเทศฟินแลนด์ สวีเดน รัสเซีย นอร์เวย์ ในบริเวณป่าสน ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน นำมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษกระดาษ

          4. การประมง  แหล่งประมงที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลเหนือ โดยเฉพาะบริเวณที่กระแสน้ำอุ่นแอตแลนติกเหนือบรรจบกับกระแสน้ำเย็นกรีนแลนด์ตะวันออก เกิดเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมมากแห่งหนึ่งของโลกเรียกว่า  ดอกเกอร์แบงก์  ประเทศที่จับปลาได้มาก  สหราชอาณาจักร  ไอซ์แลนด์  นอร์เวย์ / บริเวณอ่าวบิสเคย์จนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะบริเวณทะเลดำ ทะเลสาบแคสเปียนและแม่น้ำโวลกา มีการจับปลาสเตอร์เจียน มาทำเป็นไข่ปลาคาร์เวียร์

          5. การทำเหมืองแร่ ยุโรปเป็นทวีปที่มีแร่เหล็กและถ่านหินอุดมสมบูรณ์                                     

          – ถ่านหิน แหล่งสำคัญอยู่ทางภาคเหนือของสหราชอาณาจักร ภาคกลางของเบลเยียม  ลุ่มแม่น้ำรูห์ของเยอรมนี ภาคใต้ของโปแลนด์ ภาคเหนือของเช็ก  สโลวัก  ยูเครน  ไซบีเรียของรัสเซีย                 

           – เหล็ก แหล่งสำคัญคือ แหล่งคิรูนาและเยลีวาร์ทางตอนเหนือของสวีเดน /แหล่งคริวอยร็อกในยูเครน/แหล่งลอเรนซ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส                                                                      

          – น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ แหล่งสำคัญของยุโรปอยู่ในบริเวณทะเลเหนือ และรอบๆทะเลสาบแคสเปียน                                     

          – บอกไซต์ เมื่อนำถลุงแล้วได้อะลูมิเนียม แหล่งผลิตสำคัญอยู่ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ยูโกสลาเวีย ฮังการี เทือกเขาอูราลในรัสเซีย              

           – โพแทช ใช้ในอุตสาหกรรมปุ๋ยและสบู่ แหล่งผลิตอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน รัสเซีย

          6. อุตสาหกรรม ยุโรปได้ชื่อว่าเป็นทวีปอุตสาหกรรม เพราะเกือบทุกประเทศมีประชากรผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม แหล่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ส่วนยุโรปตะวันออกอยู่ใน รัสเซีย ยูเครน เบลารุส

          7. พาณิชยกรรม  เนื่องจากยุโรปความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ทำให้ยุโรปมีการติดต่อค้าขายกับภูมิภาคอื่นและมีการตั้งกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป (EU-European Union) สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA-European Free Trade Association) ตลาดการค้าขายระหว่างประเทศ ได้แก่ ประเทศต่างๆที่อยู่ในยุโรปและประเทศอเมริกาเหนือ

          8. การท่องเที่ยว ทวีปยุโรปมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง ประกอบกับมีภูมิอากาศที่อบอุ่นสบาย จึงเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาปีละมากๆ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ เช่น พระอาทิตย์เที่ยงคืนที่ประเทศนอร์เวย์ ภูมิประเทศเทือกเขาแอลป์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ฝรั่งเศส แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น หอไอเฟลในกรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส พิพิธภัณฑ์ ปราสาท และอาคารสถานที่ทางประวัติศาสตร์ในประเทศสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี กรีซ สวีเดน

          9.การคมนาคมขนส่ง ยุโรปเป็นทวีปที่มีการคมนาคมขนส่งเจริญก้าวหน้ามาก                         

          – ทางรถยนต์ มีทางหลวงเชื่อมระหว่างเมือง เขตอุตสาหกรรมและประเทศต่างๆ มีระยะทางยาวประมาณ 1 ใน 5 ของทางรถยนต์ของโลก   

          – ทางรถไฟ ทวีปยุโรปมีทางรถไฟยาว 1 ใน 3 ของทางรถไฟในโลก ประเทศที่มีทางรถไฟยาวเมื่อเฉลี่ยต่อเนื้อที่แล้วมากที่สุด คือ เบลเยียม รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์  เมืองที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรถไฟคือ ปารีส ลอนดอน เบอร์ลิน วอร์ซอ มอสโก               

          – ทางอากาศ แต่ละประเทศต่างก็มีสายการบินเป็นของตนเอง ใช้ติดต่อระหว่างเมืองภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และระหว่างทวีป ศูนย์กลางการบินส่วนใหญ่เป็นเมืองหลวงของแต่ละประเทศ             

           – ทางน้ำ แม่น้ำสำคัญที่ใช้ในการคมนาคมขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ได้แก่ แม่น้ำไรน์ แม่น้ำเซน แม่น้ำดานูบ แม่น้ำโวลกา แม่น้ำโอเดอร์ และมีการขุดคลองเพื่อการคมนาคม เช่น คลองคีล ในเยอรมนี เชื่อมระหว่างทะเลบอลติกกับทะเลเหนือ คลองมีดีในฝรั่งเศสเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับมหาสมุทรแอตแลนติก

 

โพสท์ใน ลักษณะทางเศรษฐกิจ | ใส่ความเห็น

ลักษณะสังคมและวัฒนธรรม

ลักษณะสังคมและวัฒนธรรมของทวีปยุโรป

ลักษณะสังคม

          สภาพสังคมของยุโรปมีลักษณะเป็นสังคมเมือง เนื่องจากระบบอุตสาหกรรมที่แพร่หลายในยุโรปมีส่วนชักจูงผู้คนให้เข้ามาทำงานและตั้งถิ่นฐานในบริเวณแหล่งอุตสาหกรรมจนทำให้เกิดเป็นชุมชนและขยายตัวออกเป็นเมือง ทำให้จำเป็นต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อให้การอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างสันติสุข  ทุกคนจึงต้องยอมรับในสิทธิและหน้าที่ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ซึ่งกลายพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สังคมยุโรปมีความเป็นประชาธิปไตยสูงมากและเป็นแหล่งกำเนิดของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ได้ขยายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ส่วนความสัมพันธ์ภายในครอบครัวชาวยุโรปที่ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวและแต่ละคนได้รับการอบรมให้เป็นตัวของตัวเองและช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด

ลักษณะวัฒนธรรม

          ลักษณะวัฒนธรรมของทวีปยุโรปจะมีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและเชื้อชาติของประชากรในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ภาษา อาหารการกิน ขนบธรรมเนียมในการดำเนินชีวิต คติความเชื่อ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็มีลักษณะร่วมบางประการที่มีความคล้ายคลึงกัน คือ

          ด้านศาสนา ชาวยุโรปส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ โดยแบ่งออกเป็น 3 นิกายสำคัญ ได้แก่ นิกายโรมันคาทอลิก  นิกายโปรเตสแตนท์  และนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์

          ด้านภาษา ภาษาที่ใช้ในทวีปยุโรปเป็นตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ  กลุ่มภาษาเจอร์มานิก  กลุ่มภาษาโรมานซ์ หรือกลุ่มภาษาละติน และกลุ่มภาษาสลาฟ

                                                              

                                                              

โพสท์ใน ลักษณะสังคมและวัฒนธรรม | ใส่ความเห็น

ลักษณะทางประชากร

เชื้อชาติ 

ประชากรในยุโรป แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะรูปร่างและสีผิว คือ  

(1) พวกอัลไพน์  มีรูปร่างแข็งแรง สูงปานกลาง ตาสีน้ำตาล ผิวสีกลางๆไปค่อนข้างคล้ำ กะโหลกศีรษะกว้าง อาศัยอยู่ในเขตที่ราบสูงภาคกลางและเขตภูเขาทางใต้ของยุโรป เช่น ในบริเวณภาคกลางของประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสเลยไปถึงภาคเหนือของประเทศสเปน รวมทั้งบริเวณคาบสมุทรบอลข่าน  เทือกเขาคาร์เพเทียน  และบางส่วนของประเทศรัสเซีย                                                                                

(2)พวกเมดิเตอร์เรเนียน  มีรูปร่างเตี้ย ผิวสีน้ำตาลอ่อน ผมและดวงตาสีเข้ม  จากสีน้ำตาลไปจนถึงสีดำกะโหลกศีรษะยาว  ส่วนใหญ่พบในเขตเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ ประเทศอิตาลี ภาคใต้ของฝรั่งเศส และพื้นที่ส่วนใหญ่ของสเปนและโปรตุเกส                                            

(3) พวกนอร์ดิกหรือไวกิ้ง  มีรูปร่างสูงใหญ่ตาสีฟ้าหรือสีเทา ผิวขาว  มีผมสีทอง ในระยะแรกพวกนี้อาศัยอยู่ในภูมิภาคสแกนดิเนเวียต่อมาขยายลงมาทางใต้ในเขตคาบสมุทรจัตแลนด์  ประเทศเยอรมนี ภาคเหนือของเนเธอร์แลนด์ เบลเยียมและสหราชอาณาจักร

โพสท์ใน ลักษณะทางประชากร | ใส่ความเห็น

ลักษณะภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศของทวีปยุโรป

          1. ทำเลที่ตั้ง ทวีปยุโรปตั้งอยู่ในระหว่างละติจูดที่ 36 – 71 องศาเหนือ ซึ่งอยู่เหนือเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ ทำให้ทวีปยุโรปมีอากาศอบอุ่น อย่างไรก็ตาม พื้นที่บางส่วนของทวีปตั้งอยู่เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลขึ้นไป จึงมีอากาศหนาวเย็นและมีธารน้ำแข็งอยู่ในพื้นแผ่นดินเป็นจำนวนมาก

          2. ลมประจำ ทวีปยุโรปมีลมประจำตะวันตกซึ่งพัดจากทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกเข้ามาสู่ฝั่ง ทำให้มีฝนมากตามบริเวณด้านตะวันตกของทวีป ส่วนบริเวณทางเหนือมีลมขั้วโลกนำความหนาวเย็นมาให้ ในฤดูหนาวบริเวณทางตอนเหนือของทวีปยุโรปจึงมีหิมะปกคลุมและอากาศหนาวเย็น

          3. การวางตัวของเทือกเขา เทือกเขาส่วนใหญ่วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ จึงไม่กีดขวางทางลมตะวันตก ทำให้ลมตะวันตกนำความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าไปในภาคพื้นทวีปได้ทั่วถึง

          4. ระยะห่างจากทะเล ทวีปยุโรปมีที่ตั้งติดทะเลและมหาสมุทร 3 ด้าน คือ มหาสมุทรอาร์กติกทางด้านทิศเหนือ มหาสมุทรแอตแลนติกทางด้านตะวันออก และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางด้านทิศใต้ ทำให้ดินแดนต่างๆในภาคพื้นทวีปได้รับอิทธิพลความชุ่มชื้นจากทะเลและมหาสมุทรอุณหภูมิโดยเฉลี่ยจึงไม่แตกต่างกันมากนัก

          5. กระแสน้ำในมหาสมุทร บริเวณชายฝั่งตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรปมีกระแสน้ำแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นกระแสน้ำอุ่นไหลเข้าสู่บริเวณชายฝั่ง ทำให้ประเทศสหราชอาณาจักรไอร์แลนด์ และนอร์เวย์มีอากาศอบอุ่นตลอดปี

ภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติของทวีปยุโรป  

          ลักษณะภูมิอากาศของทวีปยุโรปโดยรวมเป็นเขตที่มีอากาศหนาวเย็นและอบอุ่นชื้น ลักษณะภูมิอากาศจะแตกต่างกันไปตามละติจูดและความสูงของพื้นที่ โดยพื้นที่ของยุโรปตอนเหนือซึ่งอยู่บริเวณละติจูดสูงใกล้ขั้วโลก จะมีอากาศหนาวเย็นและมีอุณหภูมิต่ำมาก บางช่วงถึงติดลบ ส่วนด้านตะวันตกของทวีปซึ่งอยู่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก และส่วนที่อยู่ละติจูดต่ำลงมาจะมีอากาศอบอุ่นกว่า  เนื่องจากได้รับอิทธิพลของกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทร ส่วนด้านทิศตะวันออกของทวีปจะได้รับอิทธิพลของอากาศหนาวเย็นบริเวณขั้วโลก ขณะเดียวกันทางด้านทิศใต้จะได้รับอิทธิพลของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้เกิดภูมิอากาศเฉพาะแบบเมดิเตอร์เรเนียนขึ้น สำหรับบริเวณพื้นที่เทือกเขาสูงและบริเวณพื้นที่อ่าวก็จะมีภูมิอากาศแตกต่างกันออกไป ซึ่งภูมิอากาศในทวีปยุโรป สามารถแบ่งออกเป็น 6 เขต ดังนี้

1. ภูมิอากาศแบบทุนดรา

          ได้แก่ บริเวณแคบๆทางตอนเหนือของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย และเขตอาร์กติกของสหพันธรัฐรัสเซีย ลักษณะอากาศในเขตนี้ ฤดูหนาวอากาศหนาวจัดเป็นเวลานาน ฤดูร้อนอุณหภูมิจะอบอุ่นขึ้นเล็กน้อยเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ได้รับหยาดน้ำฟ้าน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหิมะ ไม่มีเดือนใดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 10 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาวหิมะจะตกหนักมาก น้ำในแม่น้ำและทะเลสาบจะจับตัวเป็นน้ำแข็ง                                  ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ ไม่มีไม้ยืนต้น พืชพรรณส่วนมากเป็นพวกมอสส์และตะไคร่น้ำ แต่ในฤดูร้อนจะมีไม้ดอกเล็กๆ เช่น ดอกอาร์กติก วิลโลว์ ป๊อปปี้ เป็นต้น ขึ้นได้บ้างในบางพื้นที่แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ

2. ภูมิอากาศแบบกึ่งอาร์กติก 

          ได้แก่ บริเวณตอนกลางของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศฟินแลนด์ และภาคเหนือของรัสเซีย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทะเลน้อย ในฤดูหนาวอากาศจึงหนาวเย็นมากและยิ่งหนาวเพิ่มขึ้นเมื่อลึกไปทางตะวันออกของทวีป มีระยะเวลาที่อุณหภูมิอยู่ระดับต่ำกว่าจุดเยือกแข็งนานถึง 6 เดือน ฤดูร้อนอากาศจะอบอุ่นขึ้นเล็กน้อยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ได้รับปริมาณหยาดน้ำฟ้าปานกลาง ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของหิมะ              ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้สน (ภาษารัสเซีย เรียกว่า ป่าไทกา) ต้นไม้มีใลเล็กแคบ ลำต้นตรง กิ่งสั้น ใบจะแผ่ทางด้านล่างเรียวขึ้นไปทางด้านบนเหมือนรูปกรวย อาทิ ต้นเฟอร์ สปรูซ ลาซ เฮมล็อก ไพน์ ซีควอย เป็นต้น

3. ภูมิอากาศเขตหนาวแบบชื้นภาคพื้นทวีป

          ได้แก่ บริเวณยุโรปตะวันออก พื้นที่แถบประเทศโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย โรมาเนีย ตอนใต้ของรัสเซีย ลักษณะอากาศในเขตนี้ ฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็นจัดเป็นระยะเวลานาน มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งนานถึง 4 เดือน ฤดูร้อนอากาศเย็น ในฤดูร้อนจะมีฝนตก             ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ มีทั้งต้นไม้ประเภทไม่ผลัดใบและผลัดใบ โดยในช่วงฤดูร้อน ต้นไม้จะเขียวชอุ่มเบ่งบานเต็มที่ เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวใบไม้จะเริ่มเปลี่ยนสีและสลัดใบทิ้ง ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีคามสำคัญใขเขตภูมิอากาศเช่นนี้ ได้แก่ ต้นเอล์ม แอชเบิร์น และโอ๊ก นอกจากนี้พื้นที่บางส่วนก็จะเป็นทุ่งหญ้า เช่น ทางตะวันออกของเบลารุส เป็นต้น

4. ภูมิอากาศอบอุ่นแบบชื้นภาคพื้นทวีป                                                                                 

           ได้แก่ บริเวณที่ราบใหญ่ตอนกลางของทวีป พื้นที่ประเทศฝรั่งเศสด้านตะวันออก พื้นที่ประเทศเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ทางเหนือของอิตาลี เขตภูมิอากาศแบบนี้แผ่ปกคลุมอยู่ระหว่างเขตภูมิอากาศภาคพื้นสมุทรทางด้านตะวันตกกับเขตภูมิอากาศภาคพื้นทวีปทางด้านตะวันออก โดยได้รับอิทธิพลจากทะเลและลมประจำตะวันตกน้อย ฤดูหนาวอากาศค่อนข้างหนาวเย็น ส่วนใหญ่ฝนจะตกในช่วงฤดูร้อน                                    ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ เป็นป่าไม้ในเขตอบอุ่น ทั้งป่าผลัดใบและป่าไม้สน โดยพื้นที่ที่เป็นภูเขาและที่สูง จะมีต้นเฟอร์ สปรูซ สาช ส่วนในเขตพื้นที่ราบจะมีต้นโอ๊ก บีช เมเปิล ซีดาร์ ฮิกคอรี    วอลนัท เป็นต้น

5. ภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทร

          ได้แก่ บริเวณชายฝั่งตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป ประกอบด้วย หมู่เกาะบริติช ชายฝั่งตะวันตกของประเทศนอร์เวย์ เดนมาร์ก เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และคาบสมุทรไอบีเรีย ลักษณะของอากาศในเขตนี้ คือ มีอากาศอบอุ่นชุ่มชื้นตลอดปี เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทะเลและลมประจำตะวันตก ในฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็น มีหิมะตก ฤดูร้อนอากาศอบอุ่น                                                                    ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ เขตนี้มีป่าไม้ขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์เพราะได้รับปริมาณ้ำฝนมาก โดยจะมีทั้งป่าผลัดใบ และไม้สน ไม้สำคัญ เช่น บีช เอช ซิกมอร์ โอ๊ก ซีดาร์ สปรูซ ลาช เฮมล็อก เฟอร์ เป็นต้น

6. ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน

          ได้แก่ พื้นที่ทางใต้ของประเทศฝรั่งเศส พื้นที่ประเทศสเปน โปรตุเกส คาบสมุทรอิตาลี ชายฝั่งของคาบสมุทรบอลข่าน และบริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะของภูมิอากาศในเขตนี้ อากาศจะอบอุ่นจนถึงร้อน มีฝนตกในฤดูหนาว                                                       ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ  ประกอบไปด้วยต้นไม้เตี้ยๆ เป็นไม้เนื้อแข็ง มีใบเล็กแข็ง สีเทาแกมเขียว พืชที่สำคัญ เช่น ต้นคอร์กโอ๊ก โอ๊ก มะกอก พืชสกุลส้ม ซีดาร์ ไม้พุ่มแคระ ที่เรียกว่า มากีส์ เป็นต้น

โพสท์ใน ลักษณะภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติ | ใส่ความเห็น

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของทวีปยุโรป                                                                                               

          ทวีปยุโรปมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ตั้งแต่เทือกเขาสูง ที่ราบสูง ที่ราบรวมถึงชายฝั่งและหมู่เกาะ ซึ่งลักษณะภูมิประเทศของทวีปยุโรปสามารถแบ่งออกเป็นเขตใหญ่ ๆ ได้ 4 เขต ดังนี้

1. เขตหินเก่าทางตะวันตกเฉียงเหนือ

          เขตหินเก่าภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยเทือกเขาที่มีอายุเก่าแก่ ซึ่งถูกธารน้ำแข็งกัดเซาะจนสึกกร่อนและพังทลาย กระทั่งกลายเป็นที่ราบสูง ทางตอนเหนือบริเวณคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ได้แก่ เทือกเขาสแกนดิเนเวีย และหมู่เกาะบริติช เช่น เทือกเขาเชอเลน ในคาบสมุทรสแกนดิเนเวียและเทือกเขาแกรมเพียน ในสกอตแลนด์ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีลักษณะชายฝั่งทะเลมีลักษณะเว้าแหว่งเป็นอ่าวแคบ ๆ ขนาดเล็กที่มีน้ำลึกและเว้าลึกเข้าไปในแผ่นดินหรือภูเขาที่เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็ง ซึ่งเรียกว่า ฟยอร์ด ( Fjord ) จำนวนมาก และพบมากในประเทศนอร์เวย์ และแคว้นสกอตแลนด์ ลักษณะภูมิประเทศสำคัญในเขตนี้ ได้แก่ เทือกเขาอูราล พรมแดนธรรมชาติระหว่างทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย เป็นเทือกเขายุคหินเก่าเช่นกัน แต่มีความสูงไม่มากนัก เนื่องจากถูกการกัดกร่อนมาเป็นเวลานาน

2

2. เขตที่ราบใหญ่ตอนกลาง                                                                                                           

          เขตที่ราบใหญ่ภาคกลาง เป็นที่ราบที่กว้างขวางที่สุดของทวีปยุโรป โดยครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทางตอนใต้ของสหราชอาณาจักร ผ่านมาทางด้านตะวันตกของประเทศฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ภาคเหนือของประเทศเยอรมนี โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย  ที่ราบใหญ่ภาคกลางเป็นเขตที่มีความสำคัญมากที่สุดทางด้านเศรษฐกิจของทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตร  และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งนี้เพราะเป็นที่ราบใหญ่ การคมนาคมสะดวกสบาย การขนส่งรวดเร็ว อีกทั้งยังมีแม่น้ำที่สำคัญๆ ไหลผ่านที่ราบนี้หลายสาย ได้แก่ แม่น้ำเซน แม่น้ำไรน์  แม่น้ำลัวร์ แม่น้ำดานูบ แม่น้ำสชวิสตูลา แม่น้ำโวลกา แม่น้ำเอลเบ แม่น้ำโอเดอร์                 และแม่น้ำวิสทูลา ทำให้มีดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ตอนเหนือของที่ราบใหญ่ภาคกลาง ประกอบด้วยเปลือกโลกยุคหินเก่าที่มีอายุมากที่สุด  เรียกว่า บอลติกชีลด์ ( Baltic Shield )  ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลบอลติก ในประเทศฟินแลนด์ สวีเดน และบางส่วนของนอร์เวย์

jiab

3. เขตที่ราบสูงตอนกลาง                                                                                                              

          เขตที่ราบสูงภาคกลาง เป็นที่ราบสูงหินเก่าที่มีอายุประมาณ 200 ล้านปี เดิมดินแดนนี้เป็นภูเขาสูงมาก่อน ต่อมาเกิดการสึกกร่อนพังทลายกลายเป็นที่ราบสูงและเทือกเขาเตี้ยๆกระจัดกระจายอยู่เป็นตอนๆ  ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของทวีปจากแนวทิศตะวันตกไปตะวันออก ที่ราบสูงที่สำคัญ ได้แก่      ที่ราบสูงเมเซตา ในภาคกลางของคาบสมุทรไอบีเรีย  ที่ราบสูงตอนกลางของฝรั่งเศสที่ เรียกว่า มัสซิฟ ซองตรัล ( Massif Central )  ที่ราบสูงทางภาคกลางและภาคใต้ของเยอรมนี เรียกว่า แบล็กฟอเรสต์ ( Black Forest ) หรือป่าดำ ในเขตที่ราบสูงของประเทศเยอรมนี เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำดานูบ และที่ราบสูง โบฮีเมีย ( Bohemia ) อยู่ระหว่างพรมแดนของประเทศเยอรมนี สาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐสโลวัก

8

4. เขตภูเขาหินใหม่ภาคใต้                                                                                                           

          เขตภูเขาหินใหม่ภาคใต้ เป็นเทือกเขาหินใหม่ที่มีความสูงชัน เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลกในยุคหลังสุด ทำให้แผ่นดินยกตัวสูงขึ้นเป็นภูเขาขนาดใหญ่มีอายุใกล้เคียงกับเทือกเขาหิมาลัยในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นเขตหินใหม่ที่เปลือกโลกยังไม่สงบตัว ทำให้เกิดปรากฎการณ์แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด ดังเช่นภูเขาไฟวิสุเวียส ภูเขาไฟเอตนา ที่ปรากฏในประเทศอิตาลี โครเอเชีย บอสเนีย แอลเบเนีย กรีซ  เป็นต้น ลักษณะของภูเขาโดยส่วนใหญ่จะมียอดแหลมซึ่งเกิดจากการกระทำของธารน้ำแข็ง เทือกเขาในเขตภูเขาหินใหม่ภาคใต้ ได้แก่ เทือกเขาพีเรนีสซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน เทือกเขาแอลป์ซึ่งมีแนวจากตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ผ่านเข้าไปในสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรีย และภาคเหนือของสโลวีเนีย ยอดเขาสำคัญในเขตนี้ซึ่งเป็นที่รู้จัก คือ ยอดเขามองต์บลังค์ ( Mont Blanc ) อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ด้านที่ติดต่อกับประเทศอิตาลี สูง 4,810 เมตร ส่วนในคาบสมุทรอิตาลีมีเทือกเขาแอปเพนไนท์ เป็นเทือกเขาที่วางตัวทางตอนกลางของประเทศอิตาลีในคาบสมุทรบอลข่าน มีเทือกเขาไดนาริกแอลป์ นอกจากนี้ยังเทือกเขาคอเคซัส อยู่ระหว่างทะเลดำกับทะเลแคสเปียน

7

โพสท์ใน ลักษณะภูมิประเทศ | ใส่ความเห็น

ที่ตั้ง ขนาดและอาณาเขตติดต่อ

europe     ที่ตั้ง 

          ทวีปยุโรปเป็นทวีปที่ต่อเนื่องเป็นผืนแผ่นดินเดียวกันกับทวีปเอเชีย คล้ายเป็นคาบสมุทรหนึ่งของทวีปเอเชีย จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า ยูเรเชีย (Eruasia) ทวีปยุโรปตั้งอยู่ค่อนไปทางขั้วโลกเหนือ ระหว่างละติจูดที่ 36 องศาเหนือ – 71 องศาเหนือ และระหว่างลองจิจูดที่ 9 องศาตะวันตก – 66 องศาตะวันออก มีจุดเหนือสุดอยู่ที่แหลมนอร์ทเคป ประเทศนอร์เวย์ และจุดใต้สุดอยู่ที่เกาะครีต ประเทศกรีซ     จุดตะวันตกสุดอยู่ที่บริเวณประเทศไอซ์แลนด์ และจุดตะวันออกสุดอยู่ที่บริเวณเทือกเขายูรัล ประเทศรัสเซีย พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปจะต่อเนื่องจากพื้นน้ำ ยกเว้นทางด้านตะวันออกเท่านั้นที่ต่อเนื่องเป็นผืนแผ่นดินเดียวกันกับทวีปเอเชีย

ขนาด                                                                                                                                              

          ยุโรปเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 รองจากทวีปออสเตรเลีย มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 23 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่มีพื้นแผ่นดินติดต่อเป็นผืนเดียวกับทวีปเอเชีย ทั้งนี้ยุโรปเป็นทวีปที่มีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในซีกโลกเหนือหรือค่อนไปทางขั้วโลกเหนือ มีทะเลล้อมเกือบรอบและมีชายฝั่งทะเลที่เว้าแหว่งมาก ทำให้ได้รับอิทธิพลทะเลเกือบทั้งหมด จึงเป็นทวีปที่ไม่มีลักษณะแห้งแล้งแบบทะเลทราย ความเหมาะสมของภูมิอากาศประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรตลอดจนมี ประชากรที่มีคุณภาพเนื่องจากได้รับการศึกษาสูง ทำให้ยุโรปเป็นทวีปที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างสูง

อาณาเขตติดต่อ  

ทิศเหนือ   ติดต่อกับมหาสมุทรอาร์กติก ทะเลแบเร็นตส์ ทะเลคารา และทะเลขาว

ทิศตะวันออก  ติดต่อกับทวีปเอเชีย (มีเทือกเขายูรัล แม่น้ำยูรัล เทือกเขาคอเคซัส และทะเลแคสเปียนเป็นแนวกั้นอาณาเขต) ทำให้มี 2 ประเทศที่มีดินแดนตั้งอยู่ในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย คือ รัสเซีย และตุรกี                                                                                               

ทิศใต้   ติดต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  ทะเลดำ ทะเลไอโอเนียน

ทิศตะวันตก  ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลนอร์วีเจียน อ่าวบิสเคย์และทะเลเหนือ

 

โพสท์ใน ที่ตั้ง ขนาดและอาณาเขตติดต่อ | ใส่ความเห็น

ผู้จัดทำ

mai 2

นางสาวนันทิดา  กาศสกุล  รหัส 06510082

วิชาเอกสังคมศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์

มหาวิทยาลัยศิลปากร

โพสท์ใน ผู้จัดทำ | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

Hello world!

Welcome to WordPress.com! This is your very first post. Click the Edit link to modify or delete it, or start a new post. If you like, use this post to tell readers why you started this blog and what you plan to do with it.

Happy blogging!

โพสท์ใน Uncategorized | 1 ความเห็น